April 29, 2020
ช่วงนี้หากใครสังเกตวงการ YouTuber มาสักพัก น่าจะเห็นกันว่าเทรนด์ YouTuber ในประเทศไทยตอนนี้ เริ่มจะหันไปสนใจวิธีการนำเสนอคลิปวิดิโอแนวใหม่ที่เรียกว่า ASMR กันบ้างแล้วพอสมควร โดย หนึ่งในแชนเนล YouTube เมืองไทยที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในฐานะคนแรกๆ ที่นำเสนอการทำ ASMR คือแชนเนล เดียร์ลอง ของกวาง อาริศา ถ้าใครได้มีโอกาสเข้าไปดูคลิปบ้างแล้ว ก็จะเห็นกวางพูดจากระซิบกระซาบ เอามือลูบไล้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนใบหู ดูยังไงก็ไม่เข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่เมื่อได้ลองใส่หูฟังและตั้งใจฟังเรื่อยๆ ก็จะเริ่มได้ยินเสียงที่ละเอียดมาก ทั้งเสียงกระซิบ และเสียงเหมือนมีคนมาลูบไล้ข้างหูของเราจริงๆ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก คล้ายกับว่ากำลังมีคนมาปลอบประโลม ซึ่งความรู้สึกดีๆ ที่บอกไม่ถูกนี่แหละ เป็นเป้าหมายหรือหัวใจสำคัญของการทำคลิปประเภท ASMR
ASMR เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ยิน มองเห็น หรือสัมผัสอะไรบางอย่าง แล้วมันทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างอธิบายไม่ถูก โดยคำว่า ASMR ย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “อาการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ” ตัวอย่าง ASMR ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันของเราก็อย่างเช่น การที่เราฟังเสียงฝนตก หรือได้ยินเสียงคลื่นกระทบชายฝั่ง การฟังเสียงเพลงเบาๆ ที่มีจังหวะคงที่ การที่มีคนมาลูบหัวเราอย่างแผ่วเบาซ้ำไปซ้ำมา การที่เราอมลูกอมบางยี่ห้อแล้วมันมีเกล็ดน้ำตาลแตกเป๊าะแป๊ะอยู่ในปากเหมือนโซดา หรือแม้แต่การที่เรามองดูผู้คนเดินขวักไขว่ไปมาแบบไม่คิดอะไรระหว่างที่กำลังนั่งอยู่ริมหน้าต่างร้านกาแฟแล้วรู้สึกเคลิ้ม ผ่อนคลาย หายเครียดก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นปรากฏการณ์ที่ประสาทรับรู้ของเรามีการตอบสนองออกไปในเชิงผ่อนคลายต่อสิ่งเร้าเหล่านั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น ASMR ด้วยกันทั้งนั้น
อันที่จริง คลิปแนว ASMR มีมานานเกือบๆ 10 ปีแล้ว แต่หากพิจารณาจาก Google Trend จะเห็นว่าผลการค้นหาคำว่า “ASMR” จาก Youtube เริ่มเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดชัดเจนมากเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเราจะเริ่มเห็นเทรนด์ที่ชัดเจนเมื่อปลายปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่เซิร์จหาคำว่า ASMR มากที่สุด
เมื่อนำคำว่า “ASMR” ไปค้นหาใน YouTube แล้วก็จะเห็นว่า ในต่างประเทศมีการทำคลิปแบบ ASMR ออกมาเป็นจำนวนมาก มีหลากหลายรูปแบบเต็มไปหมด แถมบางแชนแนลที่ทำก็มียอดวิวสูงถึงหลัก 10 ล้านวิว โดย ณ เวลานี้ ขณะที่เรากำลังทำบทความอยู่ แชนแนลที่ได้รับความนิยมสูงสุดตอนนี้คือ Gibi ASMR ที่มีผู้ติดตามสูงถึง 2.47 ล้านคน และถูกจัดลำดับโดย Feedspot ให้เป็นแชนแนลที่ทำ ASMR ที่มียอดผู้ติดตามสูงที่สุดในโลก
แม้ว่า ASMR จะเป็นแนวทางทำคลิปที่กำลังติดลมบน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนมากมายที่เคยดูคลิปแนวนี้กันมาบ้างแล้ว เกิดคำถามในหัวว่า “คลิปแบบนี้ ดูกันไปได้ยังไง?” บ้างก็ดูแล้วไม่เข้าใจ บ้างก็ไม่อินไม่รู้สึกผ่อนคลายอะไร บางคนก็ถึงขั้นรำคาญหรือเกลียดคลิปแนวนี้ไปเลย ก็เหมือนกับทุเรียนที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ถ้าคนชอบกินก็จะหาซื้อมากิน ส่วนคนที่ไม่ชอบก็แทบจะเดินหนีไปไกลๆ เลย
แม้จะมีคนเกลียดไม่ใช่น้อย แต่จำนวนคนที่ชื่นชอบ ASMR ก็ไม่ธรรมดานะ เราชาว YouTuber น่าจะรู้กันดีว่ายอดผู้ติดตามระดับนี้มันไม่ใช่แค่กระแสเล็กๆที่เป็นได้แค่ niche market อีกต่อไป เราจึงไม่ควรคิดว่า AMSR เป็นแค่ไอเดียการทำคลิปพิสดารสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีรสนิยมแปลกๆ ขอให้คุณลองมาศึกษากันดูสักตั้งว่า ASMR ดียังไง ลองเริ่มเปิดใจนั่งดูคลิป ASMR สัก 2–3 คลิป ไม่แน่ว่ามันอาจพลิกชีวิต Creator อย่างเราไปเลยก็ได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น เราก็ต้องทำความเข้าใจกับ ASMR ให้ถ่องแท้ก่อน
ที่จริง มนุษย์พูดถึงปรากฏการณ์ ASMR กันมาตั้งนานแล้ว สมัยก่อนในเว็บบอร์ดด้านสุขภาพของต่างประเทศ มักจะมีคนมาตั้งคำถามว่า “ทำไมเวลามีคนมาตัดเล็บให้แล้วมันรู้สึกอบอุ่นสบายใจอย่างบอกไม่ถูก?” หรือ “ทำไมเวลาได้ยินเสียงคนกระซิบกันแล้วฉันถึงรู้สึกผ่อนคลาย?” ฯลฯ ซึ่งสะท้อนได้ดีว่า มนุษย์เริ่มมีประสบการณ์เกี่ยวกับ ASMR กันมานาน ยิ่งกว่านั้นมีคนพูดกันว่าวีดิโอสอนศิลปะของ Bob Ross จิตรกรและนักสอนศิลปะชื่อดังผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีของวีดิโอแนว ASMR (แม้ว่าคุณ Bob น่าจะยังไม่เคยรู้จักคำๆ นี้มาก่อนก็ตาม) เพราะการสอนวาดภาพวิวด้วยสีน้ำมันของเขาในวีดิโอนั้น ไม่มีเสียงดนตรีใดๆ ประกอบ มีแค่ผ้าใบ เสียงนุ่มๆ ของคุณ Bob และเสียงแปรงที่เสียดสีกับผ้าใบไปมา ดูไปเพลินๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนสะกด มีสมาธิ อบอุ่นผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งเป็นอาการชัดเจนที่เกิดจากการตอบสนองอัตโนมัติในทางผ่อนคลาย บางคนถึงขั้นบอกว่า Bob เป็น AMSR Creator ผู้มาก่อนกาลด้วยซ้ำ ดังนั้น แม้ไม่ได้มีคนมาตั้งชื่อให้อาการเหล่านี้ว่า “ASMR” แบบเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานแล้ว
เหตุที่ ASMR กลายเป็นเทรนด์ระดับโลกขึ้นมานั้น ว่ากันว่าเกิดขึ้นมาจากคลิปวิดิโอชุดหนึ่งที่ชื่อ WhisperingLife โดยสาวคนหนึ่งที่สังเกตว่าตัวเอง จะรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูกเวลาได้ยินเสียงคนคุยกันแบบกระซิบกระซาบ ตัวเธอเองก็อยากให้คนอื่นๆ เข้าใจความสุขที่เธอได้สัมผัสบ้าง จึงลองทำคลิปวิดีโอลง YouTube โดยใช้เสียงกระซิบพูดคุยกับคนดู เป็นเหตุให้คลิปเสียงกระซิบของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมมากขึ้น และนั่นนับเป็นช่วงแรกๆ ที่โลกได้รู้จักกับคลิปวีดิโอแนว ASMR
ความนิยมอย่างล้นหลามของคลิปการกระซิบ เริ่มกลายมาเป็นเวทีประกวดความคิดสร้างสรรค์ของการทำ ASMR ที่แหวกแนวขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังจากที่ผู้คนเริ่มรู้จักการทำ ASMR แล้ว คนที่ได้รับประสบการณ์ดีๆจากการนั่งดูคลิป ASMR ก็เริ่มอยากลองทำ ASMR กันบ้าง
หนึ่งใน ASMRist ที่โด่งดังมาก คือ Maria Viktorovna ชาวรัสเซียที่ทำแชนแนลชื่อ “Gentle Whispering ASMR” ที่ เริ่มต้นทำคลิปแรกจากการเอานิตยสารมาพลิกไปพลิกมาจนเกิดเสียงเสียดสีเบาๆ ของกระดาษ (แค่นั้นเอง) โดยคลิปดังกล่าวนั้นมียอดวิว 3 แสนกว่าวิว หลังจากนั้นมา Maria ก็ได้ใส่แนวคิดการทำวีดิโอแบบใหม่ๆเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเอาคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์มานั่งพิมพ์จนเกิดเสียงก๊อกๆ แก๊กๆ ฟังเพลินๆ ไปจนถึงคลิปการทำทรีตเมนต์ผม ที่เธอหวังว่ามันจะช่วยให้คนที่ดูหลับง่ายขึ้น โดยคลิปที่ได้รับความนิยมที่สุดของเธอ เป็นคลิปที่เธอแค่ถ่ายหน้าตัวเองกระซิบคุยกับคนดู ไม่ได้มีเทคนิคอะไรเป็นพิเศษเลย แต่เรียกยอดวิวไปได้สูงสุดถึง 22 ล้านวิว และตอนนี้เธอก็ได้กลายเป็น ASMRist ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยอดผู้ติดตามในปัจจุบันถึง 1.8 ล้านคนจากเสียงกระซิบและความคิดสร้างสรรค์ของเธอ
นอกจากนี้ยังมี ASMRist อีกมากมายหลายคนหลายประเทศที่ออกมาทำคลิป ASMR สารพัดแนวออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ละคนก็มีผลประกอบการแตกต่างกันไป บ้างประสบความสำเร็จได้ยอดวิวหลัก 10 ล้าน บ้างก็ทำออกมาได้แค่คลิปเดียวก็ล้มเลิกวนเวียนกันไป แต่ที่แน่ๆ กระแสการทำคลิปเหล่านั้น เริ่มดึงดูดความสนใจจากนักวิชาการ นักจิตวิทยา และนักวิจัย ให้เข้ามาศึกษาผลกระทบของคลิปวีดิโอ ASMR กันมากขึ้น
กรณีที่น่าสนใจก็คือ Giulia Poerio นักวิจัยที่พยายามศึกษาอิทธิพลของเสียงและภาพจากคลิป ASMR ที่มีต่อการทำงานของสมอง เธอออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่า “กลุ่มตัวอย่างของเธอที่ได้ดูคลิป ASMR มีอัตราการเต้นของหัวใจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ดู” นอกจากนี้ กลุ่มที่ดูคลิป ASMR จะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ความเครียดลดลง และอาการเศร้าลดลงด้วย หรือแม้แต่ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากประเทศเกาหลีใต้ คุณ Lee Dong-gwi เองก็ได้ให้ทัศนะว่า เหตุผลหนึ่งที่ ASMR เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้เป็นเพราะว่า สังคมเกาหลีใต้ค่อนข้างมีความกดดันสูง ทั้งเรื่องความมั่นคงและหน้าที่การงาน แถมมีสิ่งเร้ามากมายให้คนที่นี่รู้สึกเหนื่อยล้า พวกเขาจึงพึ่งพา ASMR เพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย
แม้ว่าเราอาจจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนจากวงการวิทยาศาสตร์ อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงเชิงวิชาการอีกมากก็ตาม แต่การออกมาพูดหรือให้สัมภาษณ์ของนักวิจัยและนักวิชาการทั้งหลายก็เป็นข้อยืนยันอย่างหนึ่งว่า ASMR เริ่มเป็นคำคุ้นหูมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในอนาคต
ความเนื้อหอมของกระแสคลิปผ่อนคลาย ไม่เพียงแต่ดึงดูด ASMRist ให้เข้ามา แม้แต่แบรนด์ดังระดับโลก ก็อยากเข้ามาร่วมวงตามกระแสไปกับเขา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชื่อดังอย่าง Ikea ที่ทำคลิปสอนจัดห้องขนาดเล็กออกมา โดยตลอดทั้งคลิปนั้นจะถูกบรรยายด้วยเสียงกระซิบแผ่วเบาที่ชวนขนลุกและสบายใจอย่างบอกไม่ถูก ในมุมมองของนักการตลาดก็มองว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะตัววีดิโอคลิปนั้นถูกจริตชาว ASMR เป็นอย่างมากแม้จะมีความยาวถึงครึ่งชั่วโมง และก็มียอด dislike ในสัดส่วนที่ถือว่าไม่มากนัก
ที่ต้องยกนิ้วให้เลยคือ โฆษณาของ KFC ชุดนี้ เพราะนอกจากมุกการทำคลิปกระซิบที่ใครๆ เขาก็ทำกันแล้ว KFC เองก็ยังปิ๊งไอเดีย ทำคลิปผู้พันเคนทักกีกินไก่ทอดกรอบออกมาเรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย นอกจากเสียงเคี้ยวไก่ทอดกรอบจะเย้ายวนให้น้ำลายไหลแล้ว เสียงลักษณะแบบนี้เองก็ถือว่าเป็น ASMR ชั้นดี ที่ช่วยให้คนรู้สึกพึงพอใจอย่างบอกไม่ถูกเช่นกัน
ที่ทำให้หลายคนฮือฮากันไม่น้อยเลยคือ การปรากฎตัวของคลิปโปเกมอน 2 คลิป โดยคลิปแรกเป็นคลิปชาร์แมนเดอร์ (หรือที่คนไทยอาจจะคุ้นหูกันในชื่อ “ฮิโตคาเงะ”) นอนอย่างสบายใจข้างกองไฟที่ลุกโชนเป็นเสียงฟืนไฟดังกึกก้อง และอีกคลิปหนึ่ง เป็นคลิปโปเกมอนชื่อเชสปิน (หรือ ฮาริมารอน) ที่กำลังกินขนมมาการองอย่างเอร็ดอร่อย ได้ยินเสียงก็รู้ว่ามันกรอบมาก ซึ่งทั้ง 2 คลิปต่างก็จงใจเล่นกับเสียง ASMR แถมทำออกมาได้ไม่เลวเลย
ในขณะที่ทาง Apple เองก็ปล่อยคลิปโฆษณาออกมาถึง 4 ชุด กำกับโดย Anson Fogel ผู้สร้างผลงานโฆษณากับแบรนด์ดังมาแล้วหลายตัว และเป็นคลิปที่ถ่ายทำด้วย iPhone XS ทั้งสิ้น หลักๆ แล้วก็เน้นนำเสนอวิวธรรมชาติที่มีเสียง ASMR ประกอบ เช่น คลิปเดินป่าเหยียบใบไม้แห้ง, คลิปชายหาดที่มีเสียงบรรยายเป็นเสียงกระซิบ, คลิปฝนตก หรือแม้แต่คลิปช่างไสไม้ โดยทั้งหมดนี้เน้นการนำเสนอเสียงธรรมชาติที่ฟังแล้วผ่อนคลาย ซึ่งปกติแล้วเราจะเรียกเสียงธรรมชาติลักษณะนี้ว่า Ambient Sound แต่ก็ไม่ผิดนักที่เรียกมันว่า ASMR
พัฒนาการของวีดิโอ ASMR ไปไกลกว่าที่เราคาดคิดมาก เพราะแม้แต่การเปิดกล่องรีวิวผลิตภัณฑ์ (Unboxing) ก็ทำให้เป็น ASMR ได้ เราขอยกตัวอย่าง Tingle Tech ASMR แชนแนลรีวิวสินค้าด้วยคอนเซ็ปต์แบบ ASMR ซึงทาง Tingle Tech ใช้วิธีการที่หลากหลายในขั้นตอนรีวิว ทั้งการกระซิบ การถูมือ การเล่นกับเสียงตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดกล่อง แกะพลาสติก พลิกดูสินค้า ไปจนถึงตอนใช้งานเลย ดูแล้ว ได้ทั้งความผ่อนคลาย ได้ทั้งข้อมูลรีวิวสินค้าเลยทีเดียว โดยรวมก็ได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่า ASMR Lover กันมาก
บางแชนแนลนำเสนอทั้งคลิปเวอร์ชั่นธรรมดาและคลิปเวอร์ชั่น ASMR คู่ขนานกันเลยก็มี เช่น Mashable (เว็บไซต์ชื่อดังที่มุ่งนำเสนอเทรนด์โลก) ก็มีการทำคลิปรีวิวสินค้าแบบ Unboxing โดยใช้วิธีเล่าสินค้าด้วยเสียงกระซิบเช่นกัน แต่บางคลิปก็มีกระแสที่ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นักจากผู้ติดตาม เนื่องจากคนเข้ามาดูคลิปเพื่อฟังการรีวิวสินค้าเป็นหลัก เมื่อได้ยินแต่เสียงกระซิบก็ฟังไม่เข้าใจ ในขณะที่ ASMR Lover บางรายเอง ก็รู้สึกว่าคนในคลิปกระซิบเสียงดังเกินไป และเอาแต่ใช้เสียงกระซิบในการนำเสนอเป็นหลัก ฟังมากๆ แล้วเหนื่อย ไม่รู้สึกผ่อนคลายเหมือนที่คลิป ASMR ควรจะเป็น
จากภาพรวมของสถานการณ์คลิป ASMR ที่เกิดขึ้นทั่วไปโลก ล่าสุดบริษัทซัมซุงถึงขั้นผลิตเคสมือถือสำหรับ ASMRist โดยเฉพาะ โดยทางซัมซุงกล่าวว่า ด้วยเคสมือถือรุ่นที่พัฒนาขึ้นนี้ ชาว ASMRist สามารถใช้มือถือซัมซุงถ่ายคลิปแบบ ASMR ได้เลย แม้แต่ Hootsuite แพลตฟอร์มการจัดการสื่อโซเชียลมีเดียชื่อดัง ก็ยังพูดถึงการนำเทคนิค ASMR มาปรับใช้ทางการตลาดในบทความที่ชื่อ “How to Get More Views on YouTube: 12 Tactics that Actually Work”
สิ่งสำคัญที่เราอยากจะย้ำบอกก็คือ ไม่ว่าคุณจะเป็น Creator สายไหน ไม่ว่าคุณจะรู้จัก ASMR มาก่อนหรือไม่ คุณสามารถเข้าถึงกลุ่ม ASMR Lover ได้ง่ายๆ โดยการทำคลิปอะไรก็ได้ แต่ขอแค่มีเสียงที่ผ่อนคลาย ไม่จำเป็นต้องวนอยู่กับการกระซิบหรือเล่นกับวัตถุสิ่งของรอบตัวเราเสมอไป อย่างล่าสุด ก็มีธุรกิจสปาเอา ASMR ไปใช้เป็นหนึ่งในวิธีผ่อนคลายให้ลูกค้าด้วยนะ เชื่อเถอะว่า คุณสามารถคิดไอเดียหรือคอนเซ็ปต์การนำเสนอเสียงผ่อนคลายรูปแบบใหม่ๆ ได้ตลอด
ด่านแรกของการทำ ASMR ก็เหมือนกับธุรกิจทั่วไป คือคุณต้องเข้าถึงประสบการณ์จริงๆ ก่อน ก็เหมือนกับเจ้าของแชนแนลระดับตำนานอย่าง whisperingLife ที่เริ่มต้นมาจากการที่เธอเองชอบประสบการณ์ที่ได้รับจาก ASMR แล้วค่อยออกมาเป็น ASMRist บ้าง คุณเองก็ควรเริ่มต้นจากการเป็นผู้ติดตามที่ดีของแชนแนล ASMR บน YouTube ก่อนเป็นอันดับแรกเหมือนกัน จะเริ่มจากการฟังน้องกวาง ในแชนแนลเดียร์ลองก็ได้ หรือจะไปติดตาม ASMRist สากลเลยก็ย่อมไม่ผิด เพราะมันสำคัญว่าคุณต้องเข้าใจประสบการณ์ความสุขจาก ASMR จริงๆ คุณถึงจะแยกแยะหรือ feedback ได้ว่าคลิปที่ตัวเองทำดีพอแล้วหรือยัง
คราวนี้เราจะลงลึกเรื่อง ASMR มากขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญถัดจากความเข้าใจประสบการณ์ ASMR ก็คือ ความสำคัญของ ‘เสียง’ เวลาเราทำ ASMR ตัวคลิปจะออกมาดีหรือไม่ดี เรื่องเสียงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดเป็นอันดับแรก อาจกล่าวได้เลยว่า ภาพออกมาแย่ไม่เป็นไร คอนเซ็ปต์อาจจะน่าเบื่อก็พอทนไหว แต่ถ้าเสียงไม่มีคุณภาพ รับรองได้ว่า ASMR Lover หนีหมดแน่
ปัจจุบันเราแบ่งประเภทของ “เทคโนโลยีที่สร้างประสบการณ์ทางด้านเสียง” เป็น 4 ประเภทใหญ่ ได้แก่ Mono, Sterio, Surround Sound และ 3D Audio
โมโน (Mono): เป็นรูปแบบการสร้างเสียงที่ปล่อยสัญญาณเสียงเพียงช่องเดียว ถ้าเราใช้หูฟังหรือลำโพงเล่นเสียงจากระบบโมโน เสียงที่ได้ยินทั้งจากทางซ้ายและทางขวาจะเป็นเสียงรูปแบบเดียวกันหมด ไม่มีการเลือกแบ่งว่าชนิดของเสียงไหน ให้ดังทางซ้ายหรือทางขวา และเราจะไม่สามารถแยกแยะมิติซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง ของเสียงได้
สเตอริโอ (Stereo): หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่าสเตอริโอเป็นอย่างดี เพราะระบบเสียงนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมใช้กันในครัวเรือน ข้อดีของสเตอริโอคือ ทำให้ผู้ฟังแยกแยะมิติและทิศทางของเสียงได้ละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับระบบโมโน เพราะสเตอริโอจะแบ่งช่องปล่อยสัญญาณเสียงออกเป็น 2 ช่องคือ ซ้าย และขวา ช่วยให้ผู้ผลิตสื่อสามารถเล่นอะไรกับสื่อได้มากยิ่งขึ้น เช่น สื่อเพลง ผู้ผลิตก็อาจจะแบ่งให้เสียงนักร้องดังออกจากลำโพงทั้งสองข้างเท่าๆ กัน แต่อาจให้เสียงกลองดังมากหน่อยจากทางด้านขวา เป็นต้น
เซอร์ราวด์ (Surround): เป็นระบบเสียงที่พัฒนาจากระบบสเตอริโอไปอีกขั้น เพราะนอกจากจะแยกมิติซ้าย-ขวาได้แล้ว ระบบเซอร์ราวด์ยังมีการแยกมิติของเสียง ด้านหน้า กับด้านหลัง ได้ด้วย เราจะเห็นระบบการให้เสียงแบบนี้ได้ง่ายที่สุดจากโรงหนัง หรือถ้าใครจำได้ จะมีอยู่ยุคหนึ่งที่บางบ้านจะติดตั้งโฮมเธียเตอร์ด้วยลำโพงหลายๆ ตัว ทั้งลำโพงซ้าย ลำโพงขวา ลำโพงหน้าและหลัง รวมทั้งลำโพง Subwoofer โดยเรียกเซ็ทลำโพงตามจำนวนลำโพง (และ Subwoofer 1 ตัว) ว่าลำโพง 5.1 บ้าง ลำโพง 7.1 บ้าง บางบ้านที่มีงบสูงหน่อยก็อาจมีลำโพงได้ถึง 21.1 เลย ซึ่งการติดตั้งลำโพงจำนวนมากๆ เช่นนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์การรับเสียงรอบทิศทางให้สมจริงที่สุด ถ้าใครเคยเห็นโลโก้ของ DTS หรือ Dolby Digital ก็น่าจะร้องอ๋อกัน เพราะเป็นบริษัทชั้นนำที่บุกเบิกเทคโนโลยีการให้เสียงแบบเซอร์ราวด์นั่นเอง
ไบนอราล (Binaural): เป็นนวัตกรรมทางด้านเสียงที่มีการคิดค้นกันมาหลายร้อยปีแล้ว โดยใช้อุปกรณ์รับเสียง 2 ตัวตั้งให้ห่างกัน แล้วจำลองระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงให้คล้ายกันกับวิธีการที่มนุษย์ใช้หูในการฟังสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการนี้เอง ไบนอราลจึงจำลองมิติเสียงได้ Sound Stage ที่เหมือนจริง เหมือนเราไปนั่งอยู่ตรงนั้นแล้วเงี่ยหูฟังเสียงจริงๆ จากแหล่งกำเนิดเสียงเองเลย
แนวคิดไบนอราลพึ่งนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมบันเทิงที่ต้องการสร้างมิติเสียงสมจริงแบบ 3 มิติ (3D audio) ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกม เพลง และหนัง ข้อดีของไบนอราลที่เหนือกว่าเซอร์ราวด์ตรงที่ว่า ระบบเซอร์ราวด์อาจให้เสียงได้รอบทิศทาง แต่ก็เป็นแค่การแยกมิติในแนวราบ แต่เสียงที่ผลิตโดยแนวคิดแบบไบนอราลจะให้มิติของ ข้างบน และข้างล่าง ด้วย โดยใช้อุปกรณ์รับเสียงเพียง 2 ตัวเท่านั้น และผู้ต้องการฟังเสียงแบบไบนอราล ก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์ดังกล่าวได้โดยใช้แค่หูฟังตัวเดียวเท่านั้นเอง ต้นทุนการทำเสียง 3 มิติแบบไบนอราลจึงถูกกว่าระบบเสียงแบบเซอร์ราวด์ด้วยซ้ำไป อาจกล่าวได้ว่า เทคนิคการสร้างเสียงแบบไบนอราล เป็นเทคนิคเสียงแบบ 3 มิติที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด ณ ตอนนี้
เนื่องจาก ASMR ต้องพึ่งพาความละเอียดของเนื้อเสียงและมิติเสียงมากๆ ราวกับว่าผู้ฟังเสียงไปนั่งฟังอยู่ตรงนั้นเลยจริงๆ ลองนึกภาพว่าเรากำลังฟังเสียงคนมากระซิบที่หูซ้าย หลังจากนั้นก็ได้ยินเสียงคนเดินมากระซิบที่หูข้างขวาอีกที ถ้าไม่ใช่เทคนิคไบนอราล ก็คงยากที่จะรับรู้ประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ได้ละเอียดขนาดนี้ ดังนั้นอุปกรณ์บันทึกเสียง ASMR อย่างไมโครโฟน ก็ต้องเป็นไมโครโฟนที่สนับสนุนเทคนิคไบนอราล ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ดังกล่าวมีขายทั่วไป เรียกว่า ไมค์แบบไบนอราล (Binaural Mic)
ปัจจุบัน ไมค์แบบไบนอราล ได้รับการพัฒนาให้สามารถบันทึกเสียงที่มีรายละเอียดสูงได้ ซึ่งเมื่อเราไปสำรวจไมค์แบบไบนอราลตามท้องตลาดแล้ว มักจะพบว่าเป็นไมโครโฟนคุณภาพดีที่สามารถบันทึกความละเอียดของเสียงได้ดีเยี่ยมทั้งนั้น ดังนั้นสำหรับ ASMRist ฝึกหัดที่พึ่งริเริ่มอยากทำคลิป ASMR อาจจะต้องลงทุนกับการเลือกซื้อไมโครโฟนกันสักหน่อย
แนวทางการเลือกซื้อไบนอราลไมโครโฟน มักพิจารณาจากองค์ประกอบเรื่องการเลือกซื้อไม่ต่างจากไมโครโฟนทั่วไป เช่น ราคา ความสะดวก คุณภาพของเสียง (สูง/กลาง/ต่ำ) และ ฟีเจอร์เสริมอื่นๆ แต่สำหรับไบนอราลไมโครโฟนนั้น มีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือ ขั้นตอนการบันทึกเสียงของไบนอราลไมค์นั้น ต้องใช้เทคนิคการบันทึกเสียงแบบไบนอราล (Binaural Recording) ผู้ผลิตต้องออกแบบไมโครโฟนให้มีตัวรับเสียง 2 ตัว และต้องสร้างระยะห่างจำลองระหว่างตัวรับเสียงทั้ง 2 ตัวนั้นให้คล้ายกับการได้ยินของคน โดยทั่วไปก็จะใช้ระยะที่เท่ากับส่วนของหัวที่คั่นหูทั้งสองข้างนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้เทคนิคนี้เกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์ ผู้ผลิตไบนอราลไมโครโฟนบางรายจึงได้ใช้ หัวจำลอง (Dummy Head) หรือใช้แกนคั่นไว้ตรงกลาง แล้ววางไมโครโฟนไว้ที่ตำแหน่งทั้ง 2 ด้าน เพื่อจำลองระยะห่างระหว่างหูคน แต่ก็มีผู้ผลิตบางราย ใช้หัวคนจริงๆ เลยในการสร้างระยะห่างระหว่างตัวรับเสียง (อ่านแล้วอย่าพึ่งตกใจ) โดยเพียงแต่ติดตั้งไมโครโฟนรับเสียงเข้าไปกับหูฟังธรรมดานั่นเอง ซึ่งเมื่อเราสวมหูฟังดังกล่าว ก็เท่ากับว่าเราได้จำลองระยะห่างโดยมีหัวของเราเองที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างตัวรับเสียง 2 ตัวเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งประเภทไบนอราลไมโครโฟน บทความนี้จึงขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการใช้งานของผู้บันทึกเสียง
ไมโครโฟนแบบติดหูฟัง: เมื่อเราสวมใส่หูฟังดังกล่าว ก็จะเป็นการจำลองระยะห่างของตัวรับเสียง 2 ตัว ข้อดีคือ มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า สามารถเดินทางไปบันทึกเสียงนอกสถานที่ได้ และให้มิติของเสียงค่อนข้างดี แต่ก็ขึ้นอยู่กับความแนบสนิทของหูฟังด้วย เพราะถ้าไม่แนบสนิทดี คุณภาพเสียงก็อาจมีสัญญาณรบกวน โดยเจ้าแรกที่ทำไบนอราลไมโครโฟนแบบเชื่อมต่อด้วยบลูทูธและมีหูฟังในตัว ก็คือ Hooke Audio ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า Hooke Verse ซึ่งก็เป็นสินค้าขายดีที่เว็บไซต์เปรียบเทียบไบนอราลไมโครโฟนมักเอ่ยถึง
ไมโครโฟนตั้งโต๊ะแบบมีหัวจำลอง: ลักษณะจะเป็นไมโครโฟน 2 ตัว ติดตั้งอยู่บนหัวจำลองที่เป็นรูปร่างเหมือนหัวคนหรืออาจใช้แกนคั่นกลาง ที่มีระยะห่างระหว่างไมโครโฟนเท่าหัวของคนโดยประมาณ เหมาะสำหรับใช้งานบันทึกเสียงในบ้านหรือในสตูดิโอ โดยแบรนด์ไบนอราลไมโครโฟนประเภทนี้ที่โด่งดังคือ 3Dio เจ้าของไมโครโฟนหน้าตาประหลาดที่มีใบหูติดอยู่ชื่อว่า 3Dio Free Space ซึ่งถ้าให้เราแนะนำแล้ว หากไม่ได้คิดจะนำไปใช้ข้างนอกที่ไหนจริงๆ ไบนอราลไมโครโฟนประเภทนี้ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า (รวมถึงราคาก็จะแพงกว่าด้วย)
ถ้าให้เรียงลำดับตามคุณภาพเสียงที่ได้แล้ว ยังไงเราก็ต้องบอกไมโครโฟนแบบตั้งโต๊ะดีที่สุดอยู่แล้ว เพียงแต่หากคุณพึ่งจะเริ่มต้นศึกษา อาจพิจารณาใช้ไมโครโฟนติดหูฟังไปก่อนก็ได้ เพื่อความหลากหลาย/ยืดหยุ่นในการเรียนรู้หรือมองแนวทางที่ใช่สำหรับตัวเอง งบเริ่มต้นอย่างต่ำที่สุดสำหรับการซื้อไมโครโฟนจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 ปลายๆ ถึง 5,000 บาท เช่น Roland รุ่น CS-10EM ราคาประมาณ 4,800 บาท โดยเราแนะนำให้คุณ มองหาเว็บไซต์เปรียบเทียบราคาเพิ่มเติมเป็นข้อมูลการเลือกซื้อประกอบด้วย ถ้าโชคดี อาจเจอแบรนด์ที่ขายถูกกว่านี้
งานถ่ายวีดิโอ: จริงๆ แล้ว เราสามารถทำแชนแนล ASMR โดยไม่ต้องถ่ายวีดิโอเลยก็ได้ (ใช้เสียงนำเสนอเป็นหลัก) แต่ถ้าจำเป็นหรือมีไอเดียการถ่ายทำที่น่าสนใจ อาจเริ่มต้นโดยใช้โทรศัพท์มือถือเราเองเป็นอุปกรณ์ถ่ายวีดิโอพื้นฐานไปก่อน แล้วค่อยขยับไปใช้กล้องถ่ายวีดิโอที่ดีกว่า
อุปกรณ์เสริม: อุปกรณ์ที่จำเป็นนอกเหนือจากไมโครโฟน ก็คือ Pop Filter บางคนอาจจะเรียก แผ่นดักเสียง หรือแผ่นกันลม จำเป็นสำหรับการป้องกันไม่ให้มีเสียงลมของเราเข้าไปรบกวน ไม่ว่าจะเป็นเสียง พ. เสียง ท. เสียง ช. ของเราที่มักทำให้คนฟังรู้สึกรำคาญ
งานตัดต่อวีดิโอ: มีซอฟต์แวร์หรือแอพลิเคชันสำหรับตัดต่อวีดิโอ ตั้งแต่ฟรี ไปจนถึงหลักหมื่นบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับคอนเซ็ปต์และไอเดียการถ่ายทำของเราว่า ต้องการเครื่องมือปรับแต่งละเอียดมากขนาดไหน ถ้าเป็นงานที่คราฟท์ (Craft) มากๆ อาจลองใช้ซอฟต์แวร์ Adobe Premiere Pro ดูก็ได้ แต่ในเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ เราแนะนำให้ใช้เครื่องมือตัดต่อวีดิโอแบบฟรีไปก่อน เช่น แอพลิเคชัน VivaVideo หรือ Quik เป็นต้น หรือถ้าชอบการตัดต่อใน PC เราขอแนะนำโปรแกรม Lightworks ซึ่งเป็นโปรแกรมฟรี แต่จะใช้งานได้เพียงบางฟีเจอร์นะ
สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มทำ ASMR ขอแนะนำว่าอย่าพึ่งรีบกระโจนเข้าไปเปิด Public คลิปที่คุณทำขึ้น หลังจากอัดวีดิโอเสร็จแล้ว คนแรกสุดที่ควรได้ดูคลิปของคุณก็คือตัวคุณเอง เพราะงานของการถ่ายคลิปวีดิโอสำหรับมือใหม่ ส่วนมากจะเป็นการคอยตามแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมือใหม่ หากลองเปิดดูเองแล้ว อย่าพึ่งรีบปิดคลิปด้วยความอับอาย ขอให้บันทึกปัญหาที่คุณพบอย่างตรงไปตรงมาทีละข้อ ปรับแก้ไปตามขั้นตอน ทำเช่นนี้วนไปมาจนกว่าคุณจะเริ่มพอใจกับงานของตัวเองและรู้สึกมั่นใจมากขึ้นแล้วค่อยส่งต่อให้เพื่อน ผู้ปกครอง หรือคนที่คุณสนิท ที่รู้จักคลิป ASMR (ย้ำว่า: ควรเป็นคนที่รู้จักคลิป ASMR) แล้วขอคำแนะนำหรือแนวทางปรับปรุงจากเขาดู
เพื่อความสะดวกในการลองผิดลองถูก เราขอนำเสนอปัญหาทางเทคนิคที่เรามักเจออยู่เสมอ สำหรับผู้เริ่มต้น
เสียงรบกวนจากฉาก (Background Noise): หากคุณไม่ใช่นักตัดต่อเสียงมืออาชีพ ประเด็นเรื่องเสียงรบกวน (Noise) เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอน โดยเฉพาะถ้าเป็นการอัดเสียง ASMR ด้วยไบนอราลไมค์ที่เก็บรายละเอียดเสียงได้ดีแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เสียงรบกวนส่วนมากจะเป็นเสียงที่เราเรียกว่า เสียงรบกวนจากฉาก (Background Noise) ไม่ว่าจะเป็นเสียงสุนัขเห่า เสียงเด็กเล่นกัน เสียงแอร์ หรือแม้แต่เสียงพัดลมคอมพิวเตอร์ของคุณเอง เป็นต้น วิธีการป้องกันเบื้องต้นไม่ใช่การไปเรียนตัดต่อเสียงหรือซื้อเครื่องมือแพงๆ แต่เป็นการหลีกเลี่ยงง่ายๆ อย่างเช่น พยายามจัดสภาพแวดล้อมการอัดเสียงให้มั่นใจว่าจะไม่มีตัวก่อเสียงรบกวนตั้งแต่แรก หรือให้ไปถ่ายทำตอนกลางคืนแทน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ทำให้เสียงที่เน้นนั้นโดดเด่นไปเลย แต่ต้องรักษาระดับเสียงให้ไม่ดังเกินไป เช่น การพูดจ่อให้ใกล้กับไมค์ให้มากกว่าเดิมด้วยระดับเสียงเท่าเดิม หรือการทำให้จุดกำเนิดเสียงอยู่ในตำแหน่งเบื้องหน้าไดอะแฟรมของไมค์พอดี
เสียงรบกวนจากตัวคุณเอง: ไม่ว่าจะเป็นเสียงพนักเก้าอี้ที่คุณเผลอเอนหลัง หรือเสียงลม พ. / ท. / ช. จากปากของคุณ และเสียงอะไรก็ตามที่คุณก่อขึ้นโดยที่ไม่ได้ดีไซน์ให้มีตั้งแต่แรก ซึ่งข้อแนะนำของเราคือ ให้ติดตั้ง Pop Filter เสมอเพื่อกันเสียงพ่นลม และจัดท่านั่งหรือยืนของตัวเองให้เรียบร้อยในท่าที่สบายที่สุด
เสียงที่เกิดขึ้นจากไมโครโฟนของคุณ (Internal Noise): ถ้าคุณอัดเสียงในที่เงียบมากๆ แต่พอมาเปิดฟังเสียงแล้วได้ยินเหมือนเสียงสัญญาณ (Signal) อะไรสักอย่าง อันนั้นแหละที่เป็นเสียงสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นจากไมค์ของคุณเอง ปกติไมค์แต่ละแบรนด์แต่ละรุ่นก็จะมีคุณสมบัติที่อาจเกิดเสียงรบกวนภายในแตกต่างกันไป ลองอ่านรีวิวไมโครโฟนดูว่า รุ่นไหนที่ก่อสัญญาณรบกวน (Internal Noise) น้อยที่สุด
ถ้าคุณพึ่งจะเริ่มหัดถ่าย ASMR ใหม่ๆ ขอให้ทำใจไว้ล้วงหน้าว่า ไม่มีทางที่จะอัดคลิปวีดิโอ ASMR ได้สมบูรณ์แบบแน่นอน ข้อแนะนำคือ ตอนถ่ายทำครั้งแรกๆ อย่าพึ่งออกไปถ่ายทำนอกสถานที่ ควรเริ่มจากการถ่ายทำในสถานที่ที่คุ้นเคยจะดีที่สุด พยายามควบคุมปัจจัยรอบตัวต่างๆ ให้ได้มากที่สุดก่อนในช่วงที่ยังไม่เชี่ยวชาญ ASMR ไม่เช่นนั้นคุณอาจจะต้องมาปวดหัวกับสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ พอเริ่มถ่ายทำคล่องขึ้นแล้วค่อยมองหาสถานที่อื่นข้างนอกก็ยังไม่สาย
แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำ “เสียงแบบไบนอราล” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ผู้ชมเองก็ไม่ได้มีหูทิพย์และละเอียดลออกับงานขนาดนั้น สิ่งที่เราควรทำเท่าที่ทำได้คือ หลีกเลี่ยงความผิดพลาดให้มากที่สุดและหาคลิปวีดิโอของ ASMRist สักคนที่เราชื่นชอบงานเป็น “ตัวอย่างเปรียบเทียน (Benchmark)” แล้วพยายามทำให้ดีเทียบเคียงกับเขาให้ได้ก่อนจะง่ายกว่าและไม่เป็นการกดดันตัวเองเกินไป
งานบันทึกเสียงของ ASMRist ส่วนมากจะแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. บันทึกเสียงจากธรรมชาติแวดล้อม (Ambient Sound Recording) ลักษณะงานแบบนี้มีจุดเด่นคือ มนุษย์มักจะได้ยินและรู้สึกผ่อนคลายกับเสียงแบบนี้เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เสียงต้นไม้ไหว เสียงน้ำไหล หรือเสียงฝนตก เป็นต้น 2. บันทึกเสียงที่ทำขึ้นเอง (Man-made Sound Recording) โดยเน้นการถ่ายทำโดยวางไมค์ไว้ให้ใกล้ชิดกับวัตถุเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดเสียง เช่น เสียงตัดผม เสียงการไสไม้ หรือเสียงเคี้ยวขนมกรุบกรอบ ฯลฯ ทั้ง 2 วิธีการแรกจะเหมือนกันตรงที่อาศัยเสียงธรรมชาติ (Natural Sound) เป็นเสียงหลักในการทำ ASMR ซึ่งมักเป็นเสียงแบบซับซ้อนมีหลายเลเยอร์ (Layered) และเต็มไปด้วยสัญญาณรบกวน ไม่ค่อยเหมาะกับ ASMRist มือใหม่ที่ต้องการอัดแค่เสียงใดเสียงหนึ่ง แต่ก็มีข้อดีคือ เข้าถึงได้ง่าย ฟังแล้วรู้ว่าคือเสียงอะไร 3. ใช้เสียงที่สังเคราะห์ขึ้นมาอย่างมีแบบแผน (Methodical Sounds) โดยใช้อุปกรณ์สังเคราะห์เสียงและกำกับให้มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่ต้องการ กรณีของ ASMR จะเน้นเสียงที่สม่ำเสมอ ไม่กระโชกโฮกฮาก มีจังหวะค่อนข้างช้า คงที่ และไม่ซับซ้อน
การบันทึกเสียงจากธรรมชาติแวดล้อม เป็นวิธีการที่เริ่มต้นง่ายที่สุด แต่มีปัญหามากที่สุดเช่นกัน ในกรณีที่เสียงที่ปรากฏไม่เป็นไปตามที่ดีไซน์เอาไว้ ส่วนมากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเพื่อตัดเสียงอื่นที่ไม่ต้องการ หรือสัญญาณรบกวนออกในภายหลัง ในขณะที่เสียงสังเคราะห์ ก็เป็นเสียงที่คราฟท์ได้ดั่งใจที่สุด แต่ก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านงานสังเคราะห์เสียงอีก ดังนั้นแนวทางสำหรับมือใหม่ที่เราแนะนำคือ การบันทึกเสียงที่ทำขึ้นเอง (Man-made Sound) ที่เป็นแนวทางกลางๆ ที่เราสามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมได้ดีกว่า และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเสียง
อย่างที่เราบอกไว้ในตอนต้น คุณควรเริ่มต้นจากการติดตามดูคลิป ASMR ให้เข้าใจก่อน ถ้าตัวเองลองฟังเองแล้วไม่ชอบ ไม่มีความสุข ไม่ผ่อนคลาย ไม่ได้ประสบการณ์อะไรที่ดีเลย ASMR ก็อาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสำหรับคุณ
ควรเริ่มจากการทำ ASMR ง่ายๆ ยังไม่ต้องมีคอนเซ็ปต์หรือไอเดียที่แปลกแหวกแนวมากนัก เช่น การบันทึกเสียงที่ทำขึ้นเอง (Man-made Sound) ไม่ว่าจะเป็นการฝึกพูดกระซิบ หรือพลิกหนังสือไปมา อย่างที่ Maria Viktorovna ทำก็ได้ พอเริ่มมั่นใจในน้ำเสียงกระซิบของตัวเองแล้วค่อยพัฒนาแนวทางทำคลิปให้ซับซ้อนขึ้น โดยเริ่มหยิบจับแนวทางทำคลิปทั่วๆ ไปหรือสไตล์การทำคลิปที่คุณถนัด มาแปลงให้เป็นแนว ASMR ซะเลย เหมือนคลิปรีวิวสินค้าที่แชนแนล Tingle Tech ทำไว้
“เอะอะก็เอาไปปรับใช้แบบไม่ดูตามาตาเรือ” พฤติกรรมเช่นนี้เรียกว่า “Lazy Hack” คือ เห็นว่ามีคนทำแล้วประสบความสำเร็จก็เลยอยากทำบ้าง แต่ไม่ขวนขวายทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน มีแชนแนลที่ทำคลิปรีวิวสินค้า (รวมถึงการทำคลิปคอนเซ็ปต์อื่นๆ ด้วย) โดยใช้เทคนิค ASMR แต่ก็โดนผู้คนตำหนิอยู่ไม่น้อย สาเหตุใหญ่มาจากการที่แชนแนลนั้นมีฐานผู้ติดตามที่ไม่ได้ต้องการ ASMR มาตั้งแต่แรก แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็มาจากพฤติกรรม Lazy Hack นี่แหละ
ลองสังเกตและศึกษาข้อผิดพลาดจากคลิปที่มีคน Dislike มากๆ และมีแต่ความคิดเห็นในเชิงลบดู บางรายโดนทั้ง ASMR Hater กับ ASMR Lover ตำหนิเลยก็มี เพราะฉะนั้น การดีไซน์ประสบการณ์ของผู้ฟังในขณะเล่าเรื่องก็สำคัญ ไม่ใช่แค่ใช้ “การกระซิบ” ก็จะเป็นคลิป ASMR ที่ดีได้เลยนะ ควรศึกษาวิธีการดำเนินเรื่องราวในคลิปจากเคสที่ประสบความสำเร็จ ว่าเขาสอดแทรกกิจกรรมแบบไหนบ้าง และดูจากเคสที่ล้มเหลวให้ดี ว่าพวกเขาทำให้คนดูไม่พอใจอย่างไรบ้าง
หากคุณลองฟังงาน ASMR มาบ้างแล้วรู้สึกประทับใจแล้วล่ะก็ ลองผันตัวมาเป็น ASMR Creator ดูสิ งาน ASMR ไม่จำเป็นต้องฝึกฝนเทคนิคอะไรขนาดนั้น อาศัยเพียงความอดทน การทดลองอย่างต่อเนื่อง และการฝึกใช้อุปกรณ์ที่คุณมี รู้จักการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากอุปกรณ์เหล่านั้น ลองผิดลองถูกว่าคลิปแบบไหนถูกใจเรา (และถูกใจคนอื่น) คุณไม่จำเป็นต้องมีห้องสตูดิโอหรือมี Stage อะไรขนาดนั้น เพราะถ้ามีอุปกรณ์ที่เหมาะสมและความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งแล้ว จะออกไปถ่ายทำ ASMR ข้างนอกก็ได้ จะเอาไปอัดเสียงตอนกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่ก็ได้ จำไว้ว่าประเด็นสำคัญของ ASMR คือเรื่องของ “เสียง” ว่าเสียงที่คุณทำออกมามีคุณภาพดีพอและถูกจริตคนฟังหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของความจริงจัง ดูเป็นทางการ ไม่ใช่เรื่องของการต้องอยู่แต่ในห้องสตูดิโอ หรืออยู่นอกบ้าน จะที่ไหน เวลาใด คุณก็ทำ ASMR ได้ ถ้าผลลัพธ์ที่ออกมามันใช่สำหรับคนฟัง หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณนะครับ
http://sleepyasmr.com/whispering-life-the-person-who-started-asmr-videos/
https://www.rainmaker.in.th/interview-dear-long/
https://blog.feedspot.com/asmr_youtube_channels/
https://www.fungjaizine.com/article/story/asmr
https://sea.mashable.com/tech/1665/samsung-made-a-phone-case-with-ears-to-help-you-make-asmr-videos
https://www.thumbsup.in.th/asmr-ikea
https://www.theverge.com/tldr/2020/1/17/21070406/pokemon-asmr-youtube-charizard-chespin-mukbang
https://www.blognone.com/node/109262
https://www.insider.com/oddly-satisfying-spa-uses-asmr-immersive-technology-luxury-escapisom-2019-11
https://hookeaudio.com/blog/binaural-3d-audio/difference-mono-stereo-surround-binaural-3d-sound/
https://asmruniversity.com/art-of-asmr-tips-for-artists/
CMKL University เปิดรับนักศึกษาในหลักสูตร MSTCI! ปริญญาโทด้านนวัตกรรมการบันเทิง Technology and Creative Innovation (MSTCI) มุ่งพัฒนาศักยภาพด้านงานบันเทิง ที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน พร้อมสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานแห่งโลกอนาคต!
Read MoreMSTCI หลักสูตรปริญญาโทสาขา Technology and Creative Innovation ที่ให้คุณได้มากกว่าการเรียนรู้!เพราะนี้เป็นโอกาสที่คุณจะได้สร้างมิตรภาพ ขยายเครือข่ายธุรกิจใหม่ๆในวงการ ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำระดับประเทศ และสร้างแรงขับเคลื่อนในการเรียนรู้ให้กับคุณได้เป็นอย่างดี
Read MoreAfter the Coronavirus pandemic, the world has changed in every aspect. This change highly affects our lifestyle including entertainment, concerts, fan meetings, or movie theatre businesses. Thus, many organizers were put in a position that they had to deal with the new phenomenon.
Read Moreมารู้จักกับ MSTCI ผ่านบทสัมภาษณ์จาก Industry Partners! — หลังจากเต็มอิ่มกับการเรียนภาคทฤษฎีในเทอมแรกแล้ว MSTCI จะพานักศึกษาทุกคนลงสนามจริงด้วยการทำ “Capstone Project” แก้ปัญหาให้อุตสาหกรรมจริง ร่วมกับองค์กรระดับประเทศเหล่านี้อย่างใกล้ชิด!
Read Moreหลักสูตรปริญญาโทสาขา Technology and Creative Innovation (MSTCI) เปิดให้ทุนแก่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจากสาขาต่าง ๆ ทั้งผู้ที่ยังเป็นนักศึกษาในปัจจุบัน และ Professional จากสาขาที่หลากหลาย เข้ามาเป็นนักเรียน EIC ใน Cohort Fall 2022 ที่จะถึงนี้ พร้อมมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้าง Entertainment Innovation Lab ไปพร้อมกับอาจารย์และนักวิจัยแนวหน้าของประเทศ!
More Scholarship Info